฿1,100.00
เรื่องย่อและประเด็นสำคัญ
ชื่อหนังสือ : ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร : หัวใจของการภาวนา เพื่อความรู้แจ้ง
ผู้เขียน : ประมวล เพ็งจันทร์
ISBN : 978-616-393-283-9
ราคา : 1,100 บาท
เดินสู่อิสรภาพที่แท้จริง ในอ้อมกอดพระแม่ปรัชญาปารมิตา พระพุทธมารดา
ผลงานเขียน เดินสู่อิสรภาพ ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งบันทึกการเดินเท้าจากจังหวัดเชียงใหม่ ถึงเกาะสมุยบ้านเกิด ระยะทางกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร รวมเวลา ๖๖ วัน เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและตรึงใจผู้อ่านมายาวนาน บางท่านอาจไม่ทราบว่า การเดินเท้าในครั้งนั้น อาจารย์ประมวลมิเพียงตั้งจิตเพื่อบรรลุเป้าหมายปลายทางอันเป็นรูปธรรมเท่านั้น หากแต่ทุกย่างก้าว ทุกลมหายใจเข้าออก ท่านกำลังเดินทางภายใน เพื่อเข้าถึงหัวใจของปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นพระสูตรสำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน มีหัวใจสำคัญคือ “ศูนยตา” ความว่าง ความเป็นศูนย์ จากขันธ์ทั้ง 5 ซึ่งตรงกับ “สุญญตา” ในฝ่ายเถรวาทนั่นเอง หนังสือ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร : หัวใจของการภาวนาเพื่อความรู้แจ้ง อาจารย์ประมวลเล่าถึงความสำคัญของพระสูตรนี้ทีมีต่อชีวิตของท่าน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ซึ่งเคย “หลง” ไปว่า ตนเข้าใจพระสูตรนี้ดีแล้วจากการอ่าน (สุตมยปัญญา) และการคิด (จินตามยปัญญา) ต่อเมื่อวันที่ได้ก้าวเดินไปพร้อมกับการปฏิบัติภาวนา (ภาวนามยปัญญา) จาริกจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย จาริกในอินเดีย และจาริกในทิเบต โดยมีพระแม่ปรัชญาปารมิตา พระพุทธมารดา เป็นผู้นำทาง จึงได้เข้าถึงโพธิปัญญาภายในและเข้าถึงหัวใจของพระสูตรได้อย่างแท้จริง
ด้วยอาจารย์ประมวลมีความจำเป็นใช้ภาษาผ่านตัวหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ แต่เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ที่ข้ามพ้น “กับดัก” ของการอ่านการคิด ไปสู่การภาวนาได้นั้น ภายในเล่มจึงมีบทเพลงภาวนา 10 เพลงคั่นตามเนื้อหา ผู้อ่านสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อภาวนาไปพร้อมกับบทเพลง นอกจากนั้นท้ายเล่มยังมีผลงานศิลปะจากศิลปินในสายงานต่างๆ อีก 15 ท่าน ร่วมกันถ่ายทอดหัวใจของปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรให้ปรากฏเป็นรูปธรรม
ประเด็นสำคัญ :
-ปรัชญาปารมิตามนต์ เป็นเครื่องนำทางที่ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น งดงาม จนต้องเอ่ยถึงอยู่เสมอในบันทึกการเดินทางจาริกของผม
-งานเขียนไตรภาค 3 เล่ม คือ 1.เดินสู่อิสรภาพ 2.อินเดีย : จาริกด้านใน 3.ไกลาส : การจาริกบนวิถีแห่งศรัทธา เป็นบันทึกประสบการณ์ในการเดินทางจาริกแสวงหาความหมายแห่งชีวิต ซึ่งมีพระแม่ปรัชญาปารมิตาเป็นผู้นำทาง และมีปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรเป็นเป้าหมาย
-หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือวิชาการประเภทอรรถกถาอันเป็นคำอธิบายปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร แต่เป็นเพียงแค่การบอกเล่าประสบการณ์ของผู้เขียน ที่มีความศรัทธาในปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร แล้วน้อมนำเอาความหมายในปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรมาเป็นมรรคาแห่งการภาวนา
-เรื่องราวต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่งานวิชาการที่จะนำไปใช้กำหนดตัดสินความผิดถูกในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ความมุ่งมั่นประการเดียวของหนังสือเล่มนี้ คือความปรารถนาที่ต้องการบอกเล่าสื่อสารความหมายที่ตนเองได้เรียนรู้กับมิตรสหาย ผู้เป็นกุลบุตร กุลธิดา แห่งยุคสมัยแห่งปัจจุบันเท่านั้น
-ความรู้สึกกลัวเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้แสวงหาทางออกจากความกลัว ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ก้าวเดินไปบนมรรคาแห่งปรัชญาปารมิตา
มรรคาแห่งปรัชญาปารมิตา
-ผมเป็นคนหนึ่งในพุทธบริษัทที่ดำเนินชีวิตไปบนมรรคาแห่งโพธิ ด้วยพลังแห่งตถาคตโพธิศรัทธา
-ตถาคตโพธิศรัทธา เป็นพลังแห่งความเชื่อมั่นว่าสามารถบรรลุถึงโพธิ ได้เหมือนที่พระบรมศาสดาได้ทรงบรรลุ
-ตถาคตโพธิ = สรรพสิ่งทั้งมวลมีความหมายเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา)
-การเข้าสู่มรรคาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรของอาจารย์ประมวล แบ่งได้เป็น 3 ช่วงคือ มรรคาแห่งการอ่าน มรรคาแห่งการคิด และมรรคาแห่งการภาวนา
มรรคาแห่งการอ่าน – สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟัง ได้อ่าน ท่องจำ
-ตอนอายุ 16 ปี ได้อ่านหนังสือชื่อ “สูตรของเว่ยหล่าง” ทำให้สนใจศึกษาว่าปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรคืออะไร จนมีโอกาสบวชเณรและบรรพชาเป็นพระภิกษุ ทำให้ได้ศึกษาผ่านการฟัง การอ่าน และการท่องจำ
มรรคาแห่งการคิด – จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด
-เมื่อเป็นพระภิกษุได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดีย ได้พบกับปรัชญาปารมาสูตรหลากหลายสูตร ทั้งฉบับยาวนับได้แสนพระคาถา และสั้นเหลืออักษรเพียงตัวเดียว
-การเรียนและการศึกษาที่อินเดีย เป็นจินตามยปัญญาที่ใช้ความคิดสืบค้นแสวงหาความรู้ ด้วยระเบียบวิธีทางวิชาปรัชญา หรือ พุทธปรัชญา รวมเวลา 11 ปี ทำให้บ่มเพาะความรู้เชิงความคิด
-เมื่อกลับมาประเทศไทย ได้มาเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญา พุทธปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทำให้ยึดติดความรู้ที่มาจากความคิดมากยิ่งขึ้น
-จนเมื่อแม่เสียชีวิต อาจารย์ประมวลได้แปล “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” เพื่อพิมพ์อุทิศให้แม่ ทำให้นึกถึงตำนานธรรมของท่านนาโรปะที่เล่าไว้ว่า เช้าวันหนึ่งขณะที่ท่านนาโรปะผู้ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ทางพุทธศาสนาเป็นที่หนึ่ง กำลังจะสวดปรัชญาปารมิตมนต์ ทันใดนั้นก็ได้มีเงามืดมาบนบังแสงสว่าง ท่านนาโรปะเงยหน้าขึ้น เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงคนนั้นถามท่านว่า ท่านเข้าใจความหมายของปรัชญาปารมิตาดีแล้วหรือ แล้วผู้หญิงคนนั้นก็หายไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ ท่านนาโรปะได้สติ จึงตัดสินใจออกเดินทางจาริกเพื่อเข้าใจความหมายของปรัชญาปารมิตาผ่านการภาวนาด้วยตัวเอง
-ด้วยเรื่องราวของท่านนาโรปะ อาจารย์ประมวลจึงได้ขอลาออกจากการเป็นอาจารย์ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2548 บำเพ็ญปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรผ่านการภาวนาด้วยตัวเอง และเพื่อได้หลุดพ้นไปจากความกลัวในใจซึ่งเป็นความทุกข์
มรรคาแห่งการภาวนา – ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจาการปฏิบัติภาวนา
-การเดินทางจาริกจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุยบ้านเกิด อาจารย์ประมวลมีปรัชญาปารมิตาสูตรและพระแม่ปรัชญาปารมิตาเป็นผู้นำทาง คือการเข้าถึงหัวใจของ “ศูนย์” “ศูนยตา” หรือ “ความว่าง” จากขันธ์ทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
–จากการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ส่งผลให้อาจารย์ประมวลได้ปฏิบัติตามพระอาจารย์เสวียนจ้าง (พระถังซัมจั๋ง) คือเมื่อออกเดินทางสู่อิสรภาพ ได้น้อมนำเอาปรัชญาปารมิตามนต์มาเป็นเครื่องปกป้องไม่ใช้จิตตกสู่ความหวั่นไหวหวาดกลัว และผ่านพ้นอันตรายนั้นด้วยพลังอำนาจแห่งปรัชญาปารมิตามนต์
–พระแม่ปรัชญาปารมิตา เป็นบุคลาธิษฐาน หมายถึง พระธรรม แทนด้วยความเป็นหญิงที่อยู่เหนือความคิด แต่ลงมือปฏิบัติภาวนาเพื่อความรู้แจ้ง
-ตามคติของวัชรยาน ปรัชญาปารมิตา หรือ ปัญญบารมี มีความหมายเป็น “พระแม่” หรือ “เทวี” เพื่อการภาวนา
-พระแม่ปรัชญาปารมิตามีอยู่ภายในใจของเราทุกคน เรามีความทุกข์ในเรื่องราวที่แตกต่างกัน แต่ความทุกข์ของเรามีธรรมชาติเดียวกัน
-ความคิดก่อให้เกิดการปรุงแต่งในขันธ์ 5 และแบ่งแยกเป็น ซ้าย-ขวา ฉัน-เธอ ชอบ-ไม่ชอบ
-ในความเป็น “ศูนย์” ไม่มีเขตแดนแบ่งแยกฉันออกมาจากเธอ และแยกเธอออกไปจากฉัน เราต่างเป็นหนึ่งเดียวกัน
-การละจากความคิด นำไปสู่ “ความรู้สึกตัว” ไม่ปรุงแต่ง ไม่แบ่งแยก เข้าถึงหัวใจของ “ศูนยตา” หรือ “ความว่าง” และนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
-การภาวนา คือ การรู้แจ้งทางอารมณ์ ณ ปัจจุบันขณะ โดยไม่ต้องคิด หรือ “รู้ซื่อๆ”
ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
ขอนอบน้อมต่อพระแม่ปรัชญาปารมิตา พระพุทธมารดา
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่และพระโพธิสัตว์จำนวนมาก
ก็ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสแสดงธรรมโดยปริยายแล้ว ได้ทรงธำรงอยู่ในสมาธิมีชื่อว่า“ คัมภีรโอภาส ”
ณ เวลาเดียวกันนั้นแล พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ พระผู้เป็นมหาสัตว์ ได้บำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอันละเอียดลึกซึ้ง จนเกิดญาณหยั่งลงสู่การรู้เห็นขันธ์ทั้ง ๕ โดยสภาวะความหมายอันเป็นศูนย์
ในขณะนั้นแล ด้วยพุทธานุภาพแห่งพระพุทธองค์ ได้ดลบันดาลให้พระสารีบุตรได้กล่าวถามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า
หากแม้นมีกุลบุตร กุลธิดาซึ่งปรารถนาความรู้แจ้ง ผู้ใดประสงค์จะบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาอันลึกซึ้งนี้ เขาหรือเธอผู้นั้นพึงศึกษาภาวนาอย่างไร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ พระผู้เป็นมหาสัตว์ ได้กล่าวตอบ พระสารีบุตรดังนี้
สารีบุตร ! หากกุลบุตร กุลธิดา ซึ่งปรารถนารู้แจ้ง ผู้ใดประสงค์จะบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอันลึกซึ้งนี้ เขาหรือเธอผู้นั้นพึงศึกษาภาวนาให้เกิดญาณหยั่งลงสู่การรู้เห็นขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสภาวะความหมายอันเป็นศูนย์
สารีบุตร ! รูปมีความหมายเป็นศูนย์ ความเป็นศูนย์นั้นแล ปรากฏเป็นรูป ความเป็นรูปไม่ต่างจากความเป็นศูนย์ และความเป็นศูนย์ ก็ไม่ต่างจากความเป็นรูป รูปเป็นเช่นไร ศูนย์ก็เป็นเช่นนั้น เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ก็เป็นเช่นเดียวกันนั้นแล
สารีบุตร ! สังขารธรรมทั้งปวง มีลักษณะเป็นศูนย์ จึงไม่มีเกิดขึ้น ไม่มีดับไป ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ไม่พร่อง ไม่เต็ม
สารีบุตร ! เพราะเหตุดังนี้แล ในศูนยตาวิหารธรรม จึงไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ ไม่มีตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ไม่มีรูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ-ธรรมารมณ์ ไม่มีจักษุธาตุ ไปจนถึงไม่มีมโนวิญญาณธาตุ ไม่มีวิชชาและไม่มีอวิชชา ไม่มีความสิ้นไปแห่งอวิชชา ไม่มีความแก่และความตาย ไม่มีทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค ไม่มีญาณ ไม่มีการบรรลุ และไม่มีการไม่บรรลุ
สารีบุตร ! เพราะพระโพธิสัตว์ธำรงอยู่ในศูนยตาวิหารธรรมเช่นนี้แล จิตจึงปราศจากธรรมอันเป็นเครื่องห่อหุ้ม และเมื่อปราศจากธรรมอันเป็นเครื่องห่อหุ้มแล้ว ก็ย่อมไม่มีความวิปลาส อันก่อผลให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหว หวาดกลัว จิตได้ตั้งมั่นอยู่แล้วในพระนิพพานอันถาวร
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในกาลทั้งสาม เมื่อบำเพ็ญให้สมบูรณ์แล้วซึ่งปรัชญาปารมิตา จึงได้บรรลุถึงซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เพราะฉะนั้น กุลบุตร กุลธิดา พึงรู้เถิดว่าปรัชญาปารมิตานี้
เป็นมหามนตรา
เป็นมหาวิทยามนตรา
เป็นอนุตรมนตรา
เป็นบทมนตร์ที่ไม่มีมนตร์บทใดเสมอเหมือน
เป็นบทมนตร์แห่งความเป็นจริงที่ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันสามารถดับสลายทุกข์ทั้งปวงได้
ดังนั้น จงบริกรรมภาวนาปรัชญาปารมิตามนตร์นี้ว่า
“ โอม คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต โพธิ สวาหา ”
สารีบุตร! พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาความรู้แจ้ง พึงบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอย่างนี้แล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากคัมภีรโอภาสสมาธิแล้ว ได้ประทานสาธุการแด่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่า สาธุ…สาธุ…ดีแล้ว ชอบแล้ว กุลบุตร กุลธิดา ผู้ปรารถนารู้แจ้ง พึงบำเพ็ญปรัชญาปารมิตาภาวนาอย่างนี้แล พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมอนุโมทนาสรรเสริญความหมายที่ท่านยกขึ้นมากล่าวแสดงไว้ดีแล้วนี้
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าดำรัสตรัสคำนี้จบแล้ว พระสารีบุตร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า พร้อมทั้งเทวดาแลมนุษย์ อสูร ครุฑ คนธรรพ์ ต่างมีจิตเบิกบาน ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้
จบปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
มีสินค้าอยู่ 148
มีสินค้าอยู่ 148