ในวันที่ทักษะใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายและโลกดูหมุนเร็วอย่างน่าใจหาย ในขณะที่คุณครูเองก็ต้องพาตัวเองก้าวเดินไปข้างหน้า รวมทั้งความรับผิดชอบที่ต้องดูแลให้เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่และปรับตัวเข้ากับโลกวุ่น ๆ ใบนี้ หลายคนเริ่มหวั่นกลัวกับการกลายเป็นคน “ตกยุค” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรายวันแบบนี้  เพราะต้องปรับทั้งทักษะอาชีพและการใช้ชีวิต เทคนิคการสอนที่เคยทำได้ดีอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างผลสำเร็จอย่างที่ต้องการ แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มหยิบจับพัฒนาตัวเองตรงไหนก่อนดี ลองมาหาตัวช่วยจากบรรทัดต่อจากนี้กัน

Train for Skill VS. Develop for Mindset
ก่อนอื่นต้องแยกให้เห็นกันก่อนว่าการพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน มีทั้งการพัฒนาทักษะความรู้ และการพัฒนากรอบความคิด (mindset) ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่าถ้าเรามี “กรอบความคิดแบบพัฒนาได้” หรือที่เรียกกันว่า “Growth Mindset” จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ reskill และ upskill เป็นเรื่องที่เราทุกคนทำได้แบบไร้ขีดจำกัด!

What is Growth Mindset?
กรอบความคิดแบบพัฒนาได้ หรือ Growth Mindset ช่วยให้เราเห็นคุณค่าของทุก ๆ อย่างที่เราทำ โดยไม่ได้อิงกับผลลัพธ์เสมอไป” เป็นคำกล่าวของ ดร. แครอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้พัฒนาแนวคิด Growth Mindset ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

เราคงเคยสงสัยว่ากรอบความคิดแบบพัฒนาได้ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่? ลองมองไปที่นักวิทยาศาสตร์ผู้พยายามคิดค้นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากมาย แม้ว่าจะไม่มีใครได้ค้นพบแนวทางรักษาที่สำเร็จเบ็ดเสร็จเพียงหนึ่งเดียว แต่การที่เขาเหล่านั้นมุ่งมั่นศึกษาอย่างไม่ลดละ ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหา วางแผน และหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายแม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบาก  กระบวนการเหล่านี้เองที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและผลักดันให้เกิดการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่เกิดจากผู้ที่มี Growth Mindset นั่นเอง

Students VS. Teachers
ดร. แครอล เอส. ดเว็ค ได้ทำงานวิจัยมากมายเพื่อสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ  และนำมาซึ่งตัวอย่างและการเรียนรู้ที่ว่า เด็ก ๆ ที่มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset) มีความเชื่อว่าเขาเก่งขึ้นได้จากการใช้ความพยายามที่มากขึ้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เองจะมีมุมมองต่อตัวเอง ทั้งในด้านมุมมองต่อภาพลักษณ์ การใช้ความพยายาม การเรียนรู้ รวมถึงการปรับตัว แตกต่างจากเด็ก ๆ ที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว หรือ Fixed Mindset ซึ่งส่งผลต่อการเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และอาชีพการงานในอนาคต

จากผลการวิจัยดังกล่าว ครูและผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นใจและวิธีคิดของเด็ก ๆ ผ่านการให้ feedback อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง ดร. ดเว็ค ยังกล่าวอีกว่า “เป็นเรื่องสำคัญมากที่ครูจะต้องมีความเข้าใจเรื่อง Growth Mindset และทำทุกอย่างภายใต้บทบาทหน้าที่เพื่อปลดล็อกการพัฒนา mindset นี้ให้แก่เด็ก ๆ”

คีธ เฮกการ์ท (Keith Heggart) อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิด Growth Mindset นี้ และพบว่ากรอบแนวคิดนี้ช่วยพัฒนาผลงานของคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยเช่นกัน โดยที่คุณครูอาจเริ่มมองบทบาทของตัวเองเสมือนหนึ่งนักเรียน ไม่ต่างจากลูกศิษย์ในชั้นเรียนที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงพอจะเห็นว่า แม้คนเราเกิดมาแตกต่างกันจากโครงสร้างทางพันธุกรรม พรสวรรค์ ความถนัด และอุปนิสัยใจคอ แต่ทุกคนรวมถึงคุณครูเองก็สามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ และพัฒนาได้ด้วยความพยายามและกรอบความคิดที่เหมาะสม ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว จะเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ โดยอาจมีพฤติกรรมที่ท้อถอยได้ง่าย สามารถหาข้ออ้างจากสิ่งรอบตัวมารองรับสิ่งที่เกิดขึ้น มองว่าความตั้งใจและความพยายามไม่มีค่าถ้าบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามเงื่อนไขความเชื่อดั้งเดิม หลีกเลี่ยงความท้าทาย และแม้กระทั่งไม่ได้ใส่ใจคำแนะนำที่มีประโยชน์จากผู้อื่น

หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวก การสังเกตและส่งเสริมคุณค่าผู้เรียนแบบรายบุคคลด้วย Character Strengths Mindset และการเสริมสร้าง Growth Mindset ผ่านชุดเครื่องมือและกิจกรรมทางจิตวิทยาเชิงบวก
ขอเชิญเข้าร่วมหลักสูตร “Positive school in action” โดยศูนย์กิจการสร้างสุข  ในวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13:00 – 17:00 น. ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม คลิก https://bit.ly/3gcg0MQ

Leave a Reply

Discover more from SOOKLIFE

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading