ผลสำรวจของ Forbes พบว่า 53% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลมีภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดเสียอีก และในปี 2021 ประชากรก็มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานมากขึ้น และหนึ่งในสาเหตุของภาวะหมดไฟก็มาจากความเครียด นอกจากนั้น ข้อมูลจาก stress.org เผยว่า ธุรกิจในสหรัฐฯ สูญเงินถึง 9,747 ล้านบาท จากความเครียดในที่ทำงานและส่งผลให้พนักงานกว่า 1 ล้านคนขาดงานทุกวัน
วิธีแก้ปัญหาหมดไฟในการทำงานก็สามารถทำได้หลากหลาย เช่น หากิจกรรมยามว่างที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ, พูดคุยกับคนอื่น, เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือ หยุดพักเพื่อให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน
อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าเราเป็นคนที่มีภาวะหมดไฟ พร้อม ๆ กับความกังวลและความเครียดในชีวิตการทำงาน ก็อาจส่งผลให้เราก้าวไปสู่อีกภาวะหรือโรคที่มีชื่อว่า “โรคกลัวการทำงาน (Ergophobia)”
แล้วโรคกลัวการทำงานคืออะไร ?
โรคกลัวการทำงาน (Ergophobia) จัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่คนที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกกลัว กังวลเกี่ยวกับงาน รวมถึงกลัวสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น กลัวว่าจะทำงานได้ไม่ดีอย่างที่หวังไว้ กลัวทำงานผิดพลาด กลัวการพรีเซนต์งาน กลัวถูกไล่ออก หรือแม้แต่กลัวการเข้าไปทำงานในออฟฟิศ ถึงแม้จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือย้ายงานแล้วความกลัวนี้จะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือถ้าให้เปรียบเทียบจะคล้ายกับคนที่เคยอกหัก แล้วไม่อยากมีความรักอีก เพราะกลัวว่าจะต้องเจ็บกับเรื่องเดิม ๆ ที่เคยพบเจอมาในอดีต
ซึ่งสาเหตุของโรคกลัวการทำงาน มีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ ประสบการณ์ที่ไม่ดีจากในที่ทำงาน เช่น ถูกไล่ออก, ถูกบูลลี่,
ความเครียด, ความวิตกกังวล ผู้ที่มีกลุ่มอาการทางจิตเวชอยู่แล้ว เช่น โรคซึมเศร้า, โรคกลัวการเข้าสังคม,
โรค Imposter syndrome
แล้วหากเรามีกลุ่มอาการนี้จะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไรบ้าง ?
โรคกลัวการทำงานนั้น ส่งผลให้เรามีอาการได้ทั้งทางกาย ทางใจ และทางพฤติกรรม
อาการทางกาย ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว และอาจรู้สึกเหมือนจะสำลัก กล้ามเนื้อมีการเกร็งตึง จนอาจทำให้ปวดหัว ปวดท้อง มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ รู้สึกคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หรืออยากอาเจียน
อาการทางใจ ได้แก่ รู้สึกวิตกกังวลเวลาที่รู้ว่าต้องเดินทางไปทำงาน เกิดความรู้สึกไม่ดี และรู้สึกทรมานเวลาอยู่ในที่ทำงาน
ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกกลัว/ความกังวลของตัวเองได้ แม้จะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล
อาการทางพฤติกรรม ได้แก่ ไม่มีสมาธิในการทำงาน อยากกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงาน หลีกเลี่ยงการเข้าไปทำงานในออฟฟิศ
หากไม่มีการรักษาโรคกลัวการทำงานอย่างทันท่วงที ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคกลัวการทำงาน อาการ สาเหตุ วิธีการสังเกตตัวเอง และแนวทางแก้ไขปัญหา ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมฟรี “โรคกลัวการทำงาน” โดยศูนย์กิจการสร้างสุข ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 10:00 – 11:00 น. โดยวิทยากร ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ (คุณเอิ้น) นักจิตวิทยาการปรึกษา เพจ “นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง” และ หน่วยบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา OneManCounselor.com ผ่าน Facebook Live เพจ SOOK (www.facebook.com/Sookcenter)