รับมือกับ Imposter Syndrome “ฉันมันไม่ดีพอ” ปัญหาปวดใจของคน Gen Z

ในสังคมที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน ผสมความกดดันทางสังคม เคล้าไปด้วยความคาดหวังจากคนรอบข้าง และการใช้ชีวิตเวียนวนอยู่ในโลก social media ที่มองเห็นเรื่องราวชีวิตของคนอื่นตลอดเวลา จนเราเผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัว กำลังทำให้ใครหลายคนเริ่มไม่มั่นใจในความสามารถที่มี คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ แล้วเกิดเป็นภาวะที่รู้สึกแย่กับตัวเอง จนอาจนำไปสู่ภาวะวิตกกังวล ภาวะ burn out และโรคซึมเศร้าได้

ดร. พอลลีน โรส แคลนซ์ (Pauline Rose Clance) และ ดร.ซูซาน เอเมนท์ อิมีส (Suzanne Ament Imes) นักจิตวิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับโรค Imposter Syndrome ไว้ตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งในสมัยนั้นอาการของโรคนี้มักเกิดกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ต่อมา ดร. แคลนซ์ ได้ตีพิมพ์หนังสือ The Impostor Phenomenon: When Success Makes You Feel Like a Fake ในปี 1985 และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับโรคนี้มากยิ่งขึ้น

อาการมันเป็นยังไงไหนเล่ามาซิ
Imposter Syndrome คือ อาการหรือโรคที่รู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่เก่ง ด้อยประสิทธิภาพ ไม่มั่นใจหรือสงสัยในความสามารถของตัวเอง (self-doubt) ประมาณว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกที่มีต่อตัวเองกับสิ่งที่ผู้อื่นคิดต่อคุณ เช่น ในเวลาที่คนอื่นชื่นชมคุณ คุณกลับแอบรู้สึกลึก ๆ อยู่ในใจว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นได้มาโดยบังเอิญหรือเพราะโชคช่วย และก็วิตกว่าในที่สุดคนอื่น ๆ จะพบว่าตัวคุณไม่ได้เก่งเลย คุณพยายามทุ่มเทเพื่อจะสร้างผลงานที่ดี จนถึงขั้นกลายเป็น perfectionist แต่เมื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้นั้น มันไม่ได้ทำให้คุณอุ่นใจหรือมั่นใจในความสามารถของตัวเองขึ้นมาได้เลย ในทางกลับกัน ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย คุณกลับจะโทษว่าเป็นเพราะตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ

ถ้าคุณกำลังรู้สึกแบบนี้ เราอยากให้รู้ว่าคุณไม่โดดเดี่ยว  เพราะได้มีการรวบรวมผลการวิจัย 62 ชิ้นงาน ที่ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 14,161 คน พบว่า 9-82% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่ามีอาการ Imposter Syndrome ในจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชายพอ ๆ กัน และเริ่มมีงานวิจัยมากขึ้นที่พบว่าภาวะนี้กำลังเกิดขึ้นกับคน Gen Z หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2555 และมีอายุระหว่าง 10 – 25 ปี ในปี 2565 นี้

รับมือไหวถ้าเข้าใจ
ไม่น่าแปลกใจนักที่ชาว Gen Z รู้สึกว่าเขาต้องคอยพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกวันนี้ คน Gen Z ไม่ได้แค่เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนร่วมรุ่นหรือเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่เขากำลังเปรียบเทียบตัวเองกับคนทั้งโลกที่ on air ชีวิตกันบน social media รวมทั้งแรงกดดันที่ต้องวิ่งไล่ให้ทันเทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนล้าสมัย เบื้องต้นมีวิธีการรับมือกับภาวะ Imposter Syndrome ได้ด้วยตัวเอง 6 ข้อ ที่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินจะทำ ดังนี้

1. พักบ้าง พักจากการออนอยู่ในโลกโซเชียลทั้งวัน หยุดไล่ล่าส่องชีวิตคนอื่น แล้วมาลงเอยเปรียบเทียบตัวเองกับคนนู้นทีคนนี้ที ลองหันกลับมาใส่ใจตัวเราและความต้องการที่แท้จริงในใจ
2. รับรู้และรู้จักตัวเอง การรู้จักความสามารถของตนเอง รู้ว่าเรามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนเรื่องอะไร จะช่วยให้ชีวิตของเราไม่สับสน เพราะเราจะสามารถเลือกทำงานที่เราถนัดและสนใจจนทำออกมาได้ดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ให้กับตัวเองได้มากขึ้น
3. บันทึกความสำเร็จ ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างการออกกำลังกายให้ได้ 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือจะเป็นความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นมา เช่น การนำเสนองานแล้วได้รับคำชม ก็ล้วนเป็นความสำเร็จที่ชื่นชูใจ แค่เป็นเราที่พัฒนาขึ้นจากเดิมก็ดีมากมายแล้ว
4. วางเป้าหมายรายปี แนะนำให้วางเป้าหมาย 1 ปี 3 ปี 5 ปี เพื่อที่จะได้ไม่กดดันตัวเองในระยะสั้นจนเครียดเกินไป หรือที่แย่ยิ่งกว่าคือการกดดันตัวเองแต่กลับไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จนสุดท้ายชีวิตเลยเต็มไปด้วยความสับสน
5. ยอมรับคำชมบ้าง ก็แค่พูดว่า “ขอบคุณ” เมื่อมีใครชื่นชมคุณ ไม่ต้องปฏิเสธ ออกตัว หรือถ่อมตัวจนเกินไปทุกครั้ง สบาย ๆ กับตัวเองบ้าง
6. รู้เท่าทันความคิดตัวเอง เข้าใจว่าความ perfect ไม่มีอยู่จริง ไม่มีใครบนโลกนี้ที่เก่งไปเสียทุกอย่าง และก็ไม่มีใครในโลกนี้ที่แย่ไปเสียทุกอย่างเช่นกัน ลองคุยกับคนอื่น ๆ ดูบ้างถึงสิ่งที่คุณกำลังรู้สึกอยู่ มันอาจทำให้คุณเห็นว่า ไม่ใช่คุณเพียงลำพังที่กำลังเผชิญกับความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอนี้ มันเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ก็เป็น แค่เราต้องเข้าใจและก้าวผ่านมันไปให้ได้

หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม วิธีสังเกตตัวเองว่ากำลังเข้าข่ายอาการ Imposter Syndrome หรือไม่ ค้นหาวิธีการแก้ปัญหา และคำแนะนำเกี่ยวกับอาการ Imposter Syndrome ขอเชิญเข้าร่วมหลักสูตร “Imposter Syndrome” โดยศูนย์กิจการสร้างสุข  ในวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10:00 – 11:00 น. ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม คลิก

Leave a Reply

Discover more from SOOKLIFE

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading