อาการนอนไม่หลับ ระบบขับถ่ายแปรปรวน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาการเจ็บป่วยทางกายต่าง ๆ เหล่านี้แม้จะรับประทานยาแล้ว รักษาตามอาการแล้วก็ยังไม่ยอมหายไปจากเรา มันอาจมีสาเหตุมาจากระดับความเครียดที่สูงมากไป ที่น่าเศร้าไปมากกว่านั้นคือ ค่ารักษาพยาบาลจากความเครียดนั้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.1 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเทียบได้กับมูลค่าของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยอย่าง ปตท. ถึงเกือบ 6 บริษัทรวมกัน 

ความเครียดเป็นภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้รู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ กลัว วิตกกังวล ตลอดจนถูกบีบคั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นสามารถพัฒนาความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาและสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ รวมถึงด้านพฤติกรรมได้

ความเครียดมีทั้งประโยชน์และโทษ ผลการศึกษาจาก European Journal of Work and Organizational Psychology เกี่ยวกับรูปแบบความเครียดในที่ทำงาน โดย Anne Casper สำรวจคนทำงานอายุเฉลี่ย 39 ปี หลากสาขาอาชีพ จำนวน 171 คน โดยให้ทำแบบทดสอบเพื่อเช็ครูปแบบของความเครียด ผลการทดลองพบว่า คนที่มีความเครียดเชิงบวกมักคาดการณ์ว่าปริมาณงานที่พวกเขาต้องทำมีมากกว่าปกติ ส่งผลให้พวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น มีการวางแผนเพื่อทำงานให้สำเร็จ เรียกว่าเป็นการรับมือกับความเครียดด้วยการเผชิญหน้า

แต่ความเครียดที่เป็นโทษนั้น เป็นความเครียดชนิดที่เกินความจำเป็น กลายเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต เมื่อคนเราอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายก็จะเตรียมที่จะ “สู้” หรือ “หนี” โดยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อหดตัว ส่งผลให้ปวดหลัง เจ็บขากรรไกร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นตามกล้ามเนื้อ ร่างกายตื่นตัวมาก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ มือเท้าเย็น เวียนศีรษะ ปวดไมเกรน หายใจไม่สุด และเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย แรงขับทางเพศลดลง ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน กรดในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง หรือท้องผูก และมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

วิธีการเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการเครียด
1. ลองพิจารณาวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นต้นตอของความเครียด เพื่อดูว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้หรือไม่
2. หากแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากผู้อื่น
3. หาวิธีผ่อนคลายทางร่างกาย เช่น การหายใจลึก ๆ การออกกำลังกาย การนวด การพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารให้ครบมื้อ การอาบน้ำอุ่น
4. ลดความตึงเครียดทางจิตใจ เช่น การดูภาพยนตร์ การฟังเพลง การหัวเราะ การทำสมาธิ การคิดใทางบวก การออกไปพบปะพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อน หรือการหางานอดิเรกทำในยามว่าง
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีวิตามินบีสูงอย่างเช่น ไข่แดง ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว แป้งไม่ขัดสี ธัญพืช และถั่ว เป็นต้น เพราะวิตามินบีเป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานจากสารอาหารให้สมอง ซึ่งในขณะที่ร่างกายต้องเผชิญความเครียด สมองและระบบประสาทต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก

อย่าปล่อยให้ภัยเงียบนี้บั่นทอนสุขภาพกายสุขภาพใจของเรา ต้องคอยหมั่นสังเกตตัวเอง  และหาทางแก้ไข เพื่อป้องกันตนเองจากโรคภัยที่เป็นผลพวงของความเครียดนี้กันด้วย


หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ การจัดการความเครียด ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมฟรี “Stress Workshop” โดยศูนย์กิจการสร้างสุข  ในวันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 13:00 – 14:30 น. โดยวิทยากร นพ.วิชยุตม์ เพศยนาวิน แพทย์ / Founder of Understand ผ่านโปรแกรม ZOOM ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://bit.ly/3sR0Tyc

Leave a Reply