จากรายงานของ World Happiness Report (WHR) พบว่า ความสุขของคนไทยมีแนวโน้มลดลงและต่ำสุดในรอบ 11 ปี (ปี พ.ศ. 2553-2563) ขณะที่ความสุขของคนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คนไทยมีความสุขลดลง เนื่องมาจากความเอื้ออารีของคนในสังคม อิสระในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตและสภาพเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยที่กระทบความสุข ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม หนี้สินครัวเรือน และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เป็นต้น
เพื่อกู้ความสุขในแต่ละวันให้กลับมา ผ่านการมีโอกาสได้หยุดพักทบทวน และคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เรามีพลังในการใช้ชีวิตทุก ๆวันอย่างเป็นสุข ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดกิจกรรม “Good Loop Good Life เติมพลังชีวิตด้วยความสุขเล็ก ๆ ระหว่างทาง” ซึ่งวิทยากรรับเชิญคือ คุณยิ่งยอด หวังประโยชน์ (ฉั่ง) นักจัดกระบวนการเรียนรู้มิติด้านในแนวจิตตปัญญาศึกษาและการสื่อสารอย่างสันติ คุณธนิดา อภิสิทธิ์ (ตาล) นักออกแบบการเรียนรู้เพื่อการรู้จักตนเอง ผ่านกระบวนการศิลปะและจิตตปัญญาศึกษา และคุณรุจิรัตน์ ดุรงค์วิริยะ (อ๋ำ) กระบวนกรอิสระและนักจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเติบโตภายใน จากหนังสือจุดหมายหรือจุดหายของชีวิต (Lost & Found Land) by SOOK Publishing ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาโดย ศูนย์กิจการสร้างสุข SOOK Enterprise
กิจกรรมได้พาผู้เข้าร่วมวัยทํางานทบทวนและตระหนักถึงความสุขและคุณค่าในชีวิต ผ่านกระบวนการหลัก 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การประเมินระดับพลังชีวิต 2) Check-in ชีวิตด้วยเมนูอาหาร 3) แลกเปลี่ยนแรงจูงใจในการมาเข้าร่วม 4) ถามซ้ำสํารวจความสุข 5) ทบทวนความสุขผ่านการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามลําดับชั้นของมาสโลว์ 6) ดูคลิปสะท้อนความคิดและจิตใจ และ 7) คําถามสืบค้นตนเอง
กระบวนการที่ 1: การประเมินระดับพลังชีวิตให้ผู้เข้าร่วมตรวจเช็คระดับพลังชีวิต 0-10 (ระดับ 0 คือพลังชีวิตหมดและระดับ 10 คือพลังชีวิตเต็ม) โดยดูจากมาตรวัดตามรูป เพื่อประเมินภาวะจิตใจของตนเอง รวมถึงชวนวางความกังวลหรือเรื่องราวที่กําลังสนใจลง เพื่อพาใจมาสู่ห้องนี้และร่วมแบ่งปันความสุข ซึ่งผลการประเมินโดยรวม พบว่า พลังชีวิตของผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 4-7
กระบวนการที่ 2: Check-in ชีวิตด้วยเมนูอาหารวิทยากรชวนผู้เข้าร่วมทบทวนและแลกเปลี่ยนถึงชีวิตในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับเมนู อาหาร 1 อย่าง พร้อมสื่อความหมาย ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตในเดือนที่ผ่านมาเหมือนกับ “เมนูสลัดผักรวม” เพราะมีเรื่องเกิดขึ้นมากมายในการทํางาน เปรียบเหมือนกับผักหลากสี มีประโยชน์เพราะช่วยให้เลี้ยงชีพได้ และรสชาติกลมกล่อมเพราะได้เลือกน้ำสลัดเอง โดยวิทยากรชวนผู้เข้าร่วมแบ่งกลุ่มย่อยและแลกเปลี่ยนกันด้วยโจทย์
กระบวนการที่ 3: แลกเปลี่ยนแรงจูงใจในการมาเข้าร่วมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทําความรู้จักกันมากขึ้น วิทยากรจึงได้ชวนให้ตอบคําถามถึง “แรงจูงใจที่นําพาให้มาเข้าร่วมเวิร์กชอปนี้” โดยให้ผู้เข้าร่วมทบทวนและแลกเปลี่ยนกันเพิ่มเติมในห้องย่อย ซึ่งหลังจากการพูดคุยกันพบแรงจูงใจในการมาเข้าร่วม ได้แก่ ชื่อหัวข้อและโปสเตอร์กิจกรรมน่าสนใจ อยากมาหาแรงบันดาลใจ ช่วยเติมพลัง อยากมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมท่านอื่น ๆ อยากปลดความทุกข์เพิ่มความสุข ได้มาสังเกตมุมมองของคนอื่น ๆ ฯลฯ
กระบวนการที่ 4: ถามซ้ำสํารวจความสุข (Repeating Question) ความสุขเป็นเรื่องปัจเจก เพราะคนเรานิยามความสุขต่างกัน การช่วยให้ความหมายชัดเจนขึ้นนั้น ควรเริ่มต้นจากการสํารวจความสุขของตนเองก่อน ด้วยกระบวนการง่าย ๆ ที่สามารถทําได้คนเดียว หรือชวนเพื่อนทํา ด้วยคําถามเดียวที่ให้ถามซ้ำและตอบเรื่อย ๆ จนครบเวลา ด้วยคําถามที่ว่า “ความสุขเล็ก ๆ ของคุณคืออะไร” โดยปล่อยให้ตนเองนึกและตอบ โดยไม่ต้องขยายความและไม่ซ้ำเดิม ไม่ต้องกังวลเรื่องความผิดถูก รวมถึงขอให้คนในวงช่วยให้กําลังใจขณะเพื่อนนึกและตอบ ผ่านการส่งรอยยิ้ม โดยก่อนเข้าสู่ห้องย่อยกัน วิทยากรขอให้ตอบกันทุกคน โดยทําหน้าที่สลับบทบาทกันไปในแต่ละรอบ ซึ่งมี 3 บทบาท ได้แก่ คนถาม คนตอบ และคนจับเวลา มีเวลาให้ประมาณ 2 นาทีต่อรอบ ซึ่งก่อนจะเริ่มถามตอบกัน ขอให้ผู้เข้าร่วมในห้องย่อยแนะนําตัวกันสักเล็กน้อยว่า ชื่ออะไร เป็นคนที่ไหน และชอบทํางานอดิเรกอะไร และปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้สึกกันเพิ่มเติมก่อนกลับเข้าสู่ห้องรวม
หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนกันพบว่า ความสุขเล็ก ๆ นั้น หลายข้อผู้เข้าร่วมมีความสอดคล้องและคล้ายคลึงกัน เป็นความสุขร่วมที่เกิดมาจากการได้ทําสิ่งที่ชอบ ได้อยู่กับธรรมชาติและน้องสัตว์ตัวโปรด ได้ทํากิจวัตรที่ใช่ การมีโอกาสได้ทํากิจกรรมร่วมกับคนใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น
“ได้ออกไปปั่นจักรยานกับเพื่อน ได้อ่านแจ้งเตือนโทรศัพท์ครบทุกอัน ได้ใส่ Airpod แล้วดังกรึบ ได้อาบน้ำให้เสร็จสะอาด ได้ไปนั่งร้านกาแฟ ได้เข้า Shopee แล้วดูของที่อยากได้ ได้กวาดขยะในห้องที่บ้าน ได้ทําอะไรให้เสร็จ”- คุณตั้ม
“ได้นอนตื่นสาย ไม่ต้องทํางานในวันหยุด”- คุณกวาง
“กินของอร่อย ๆ ดูหนังฟังเพลงที่ชอบ ช่วยพ่อแม่เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเจอกับเพื่อน ได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก”- คุณฟาร์ม
“ได้ตักบาตรทุกเช้า ได้รดน้ําต้นไม้ ได้คุย/ช่วยเหลือเพื่อนบ้าน”- คุณจําเนียร
ได้เล่นกับลูก ได้ไปเที่ยว ได้ต่อจิ๊กซอว์กับลูก ได้ปลูกต้นไม้ ได้เจอเพื่อน”- คุณนุ
“ได้ตัดเสื้อผ้าใส่เอง ได้ทํางานบ้านทุกอย่าง ได้คุยกับลูก”- คุณอ้วน
จากการคําตอบที่ได้พบว่า คนเราพบกับความสุขได้ไม่ยาก เพราะความสุขนั้นอยู่รอบตัว เราสามารถสร้างความสุขได้ผ่านการลงมือทํา คิดบวกเมื่อเจอเรื่องแย่ ๆ ไม่รอเก็บเกี่ยวความสุขจากเรื่องใหญ่ ๆ แต่มองความสุขจากเรื่องเล็ก ๆ ให้เป็น
กระบวนการที่ 5: ทบทวนความสุขผ่านการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามลําดับชั้นของมาสโลว์ บางทีความสุขของคนเราก็อิงจากความต้องการ หากความต้องการนั้นได้รับการตอบสนอง เราก็จะมีความสุขขึ้น และเกิดทุกข์เมื่อความต้องการนั้นยังไม่ได้รับการเติมเต็ม วิทยากรจึงขอให้ผู้เข้าร่วมลองเรียนรู้ถึงลําดับชั้นความต้องการมนุษย์ของมาสโลว์ เพื่อใช้เป็นแนวทาง ไอเดียตั้งต้นไว้สืบค้นหรือเป็นคําถามนําให้เราได้ค้นคําตอบด้วยตนเอง ด้วยพีระมิดลําดับชั้นความต้องการของมนุษย์ 8 ขั้นของมาสโลว์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ควรได้รับการ “เติมเต็ม” (Deficiency Needs) และ ส่วนที่ควรพัฒนาต่อให้ “เติบโต” (Growth Needs) ซึ่งแต่ละส่วนประกอบด้วยส่วนชั้นย่อยอย่างละ 4 ขั้น ดังนี้ครับ
ส่วนเติมเต็ม (Deficiency Needs)
1. ความต้องการทางกายภาพหรือปัจจัยสี่ (Physiological Needs)
2. ความมั่นคง ความปลอดภัย (Safety Needs)
3. ความรัก มิตรภาพ การเป็นส่วนหนึ่ง (Love and Belonging Needs)
4. การยอมรับ ความต้องการ การมีคุณค่า (Esteem Needs)
ส่วนเติบโต (Growth Needs)
5. ความรู้ การเรียนรู้ (Cognitive Needs)
6. ความงาม สุนทรียภาพ (Aesthetic Needs)
7. การเข้าถึงตัวตน ความหมายของชีวิต (Self-Actualization)
8. การละวางตัวตน การเชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง (Transcendence)
หากพิจารณาแต่ละขั้น ก็เปรียบความต้องการของมนุษย์ได้กับ 4 มิติสุขภาวะ ที่เริ่มต้นด้วยร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ที่คนในบ้านเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี และควรทําความรู้จักกับตนเองให้มากยิ่งขึ้น ประเมินให้ออกว่าเราอยู่ในความต้องการชั้นใด เพื่อเติมเต็มและเติบโตสู่การเรียนรู้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์
กระบวนการที่ 6: ดูคลิปสะท้อนความคิดและจิตใจ วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมดูคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่ตัดทอนมาจากสารดี “Jiro Dreams of Sushi – จิโระ เทพเจ้าซูชิ” ให้เราได้ดู เพื่อเป็นกรณีศึกษา (Case Study) ได้สืบค้นความสุขของคุณจิโระว่าอยู่ตรงส่วนไหน ของการเป็นเชฟและเจ้าของร้านอาหารซูชิที่ได้รับ Michelin Stars ถึง 3 ดาว ที่ได้ทํางานมากว่า 30 ปี และมีพื้นที่ร้านเล็ก ๆ เพียง 10 กว่าที่นั่งเท่านั้น ดูคลิปสารคดีฉบับเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=sEj4rSwSdc8&t=502s
หลังดูคลิปจบ หลายท่านอาจมีน้ำตาไหลกันบ้าง ด้วยความปิติจากเรื่องราวของคุณจิโระ ที่เข้ามาสัมผัสใจของเรา และมีตัวแทนผู้เข้าร่วมสะท้อนถึงสิ่งที่พบว่า คุณจิโระมีความสุข ผ่านการใส่ใจในการทํางาน เป็นนักริเริ่ม และพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ตอนนอน
กระบวนการที่ 7: คําถามสืบค้นตนเอง ตบท้ายกระบวนการผ่านการชวนผู้เข้าร่วมให้คําตอบแก่ตนเอง ด้วยคําถาม 5 ข้อ โดยให้ผู้เข้าร่วมเขียนตอบลงบนกระดาษหรือสมุดโน๊ต โดยมีคําถามดังนี้
1. อะไรคือสิ่งที่ทําให้คุณรู้สึกกระตือรือร้น อยากรู้ อยากทํา อยากทดลอง หรืออยากอยู่กับสิ่งนั้นจมลืมเวลา
2. ถ้าไม่มีข้อจํากัดใด เช่น เรื่องการเงิน หรือภาระหน้าที่ คุณอยากจะทําอะไร
3. คุณมีจุดแข็งหรือคุณสมบัติดี ๆ อะไรในตัวคุณ อาจเป็นสิ่งที่คนอื่นเคยบอก หรือชื่นชมคุณก็ได้
4. ประสบการณ์ที่ทําให้คุณรู้สึกว่า ชีวิตมีความหมายมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเล็กหรือใหญ่
5. คุณอยากให้โลกจดจําคุณอย่างไร
เมื่อผู้เข้าร่วมเขียนคําตอบเสร็จ วิทยากรชวนให้ทบทวนข้อความทั้งหมดอีกครั้ง และดูว่ามีคํา ๆ ไหนที่พบบ่อย ให้นํามาพิจารณาต่อว่า คํานั้น ๆ มีความหมายกับชีวิตเราอย่างไร โดยให้เขียนสิ่งที่มีความหมายนั้น เหมือนเป็นป้ายไฟข้อความ ไว้ชูใจ เติมพลังให้กับเรา
กิจกรรมนี้ทำให้พบบทสรุปว่า ยามเรามีความสุข เวลามักผ่านไปเร็วเสมอ เช่นเดียวกับการที่หลาย ๆ ท่านได้มีโอกาสสัมผัสผ่านกระบวนการทั้ง 7 ขั้น ในเวลา 2 ชั่วโมงนี้ ที่ได้ชวนผู้เข้าร่วมเติมความสุขให้กับตนเอง รับพลังงานดี ๆ ให้การดําเนินชีวิตไม่วนลูปอีกต่อไป กลับกลายเป็นการใช้ชีวิตที่มีความหมายขึ้นได้ผ่านการทบทวนและตระหนักถึงแง่มุมดี ๆ ที่อาจหลบซ่อน ด้วยชุดคําถามง่าย ๆ แต่ไม่ธรรมดา ให้เราได้หาคําตอบด้วยตนเอง รวมถึงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมความสนใจ ยิ่งช่วยให้พบความสุขอันเรียบง่ายอย่างอัศจรรย์