อันตรายจากอาหารมีมากมาย ใกล้ตัว และเป็นภัยเงียบรอบตัวเราที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงและละเลยในการใช้ความระมัดระวังเลือกสรรอาหารที่รับประทาน จึงนำมาซึ่งสุขภาพที่อ่อนแอลงและโรคภัยไข้เจ็บที่ยากจะหาต้นตอ

มารู้จักกับความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) ซึ่งหมายถึง การจัดการให้อาหาร และวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ให้มีความปลอดภัย ไม่มีลักษณะเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคอันสืบเนื่องมาจากอาหาร

ส่วนอันตรายจากอาหาร (food hazard) ไม่ใช่ปัญหาที่มาจากแค่เรื่องความสะอาดของอาหารเท่านั้น แต่เราสามารถแบ่งประเภทของอันตรายจากอาหารออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. อันตรายทางชีวภาพ ที่จุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ปรสิต ทำให้อาหารเป็นพิษและเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่น อหิวาตกโรค บิด วัณโรค ไทฟอยด์
2. อันตรายทางเคมี หมายถึงสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นน้ำที่แหล่งผลิตจนถึงปลายน้ำแหล่งจำหน่ายอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลง สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ สารฟอกขาว น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
3. อันตรายทางกายภาพ คือการมีวัตถุแปลกปลอมปนเปื้อนมากับอาหาร เช่น เศษไม้ เศษโลหะ เศษแก้ว แมลง

นอกจากนั้น สารพิษในอาหารสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือสารพิษในอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และสารพิษในอาหารที่มนุษย์เป็นผู้เติมลงไป ซึ่งสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ สารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พิษจากโลหะหนัก สารพิษในการแปรรูปอาหาร สารพิษในการปรุงแต่งรส กลิ่น สีของอาหาร และสารพิษที่ปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิตและบรรจุ

เมื่อเราเข้าใจเรื่องอาหารปลอดภัยมากขึ้นแล้ว การใช้ความระมัดระวังและดำเนินการจัดการปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายจากอาหาร เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกและทำความสะอาดวัตถุดิบอย่างถูกวิธี สุขอนามัยในขั้นตอนการปรุงและแปรรูปอาหาร การดูแลความสะอาดสถานที่ประกอบและเก็บรักษาอาหาร รวมทั้งภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ การกำจัดขยะ ของเสีย สัตว์ และแมลงนำโรค และสุขอนามัยส่วนบุคคลของผู้ประกอบอาหาร ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้เราลดอันตรายจากอาหารได้มากขึ้น

ขอปิดท้าย อาหารปลอดภัย ชีวิตปลอดภัย ด้วย 8 วิธีล้างผักผลไม้ลดสารพิษ ดังนี้

1. ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที ช่วยลดปริมาณสารพิษได้ 90 – 92%
2. ใช้น้ำส้มสายชู (5%) ผสมน้ำอัตราส่วน 1:10 แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษได้ 60 – 84%
3. ล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก นาน 2 นาที วิธีนี้ลดปริมาณสารพิษลงได้ 50 – 63%
4. ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผักออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบๆ แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-15 นาที ช่วยลดปริมาณสารพิษได้ 27 – 72%
5. ต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ปริมาณสารพิษที่ลดลงคือ 48 – 50%
6. ใช้ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษได้ 35 – 43%
7. ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษได้ 27 – 38%
8. แช่น้ำซาวข้าว นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษได้ 29 – 38%

Leave a Reply

Discover more from SOOKLIFE

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading